Banner สมาคม

ประวัติสมาคมนิยมไทย

โดย นายไพโรจน์ เกษมแม่นกิจ

ผศ. ดร. ชลลดา มงคลวนิช นายกสมาคมนิยมไทย ปัจจุบันได้ติดต่อมาที่ผมในฐานะที่ปรึกษาสมาคมของชุดกรรมการบริหารปัจจุบันขอให้เขียนเรื่องประวัติสมาคมฯ ให้ ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้มีโอกาสได้ช่วยเหลือสมาคมฯ ในฐานะที่ยังพอมีความทรงจำอยู่บ้างเกี่ยวกับประวัติของสมาคมฯ ซึ่งเอกสารข้อมูลประวัติ ที่ต้องย้อนหลังไปเป็นเวลานานหลายสิบปีนั้น หากจะต้องให้เล่าย้อนหลังไปถึงปี ๒๕๐๗ หรือครึ่งศตวรรษมาแล้ว ก็นับว่ายากอยู่มาก เพราะบรรดาเอกสารที่เก็บไว้ ก็เริ่มหายหมดไปตามกาลเวลาจนไม่อาจหากลับมาใหม่ได้ เมื่อในขณะนั้นซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเป็น “ขบวนการณ์นิยมไทย” เวลาที่ต้องนับถอยหลังไปถึงครึ่งศตวรรษเลยทีเดียว การรวมตัวของผู้คนที่มีอุดมการณ์เหมือนกันและค่อยๆ ตั้งกลุ่มสตรีแม่บ้านที่มีความรักในความเป็นไทยไม่ต้องการเห็นคนไทยนิยมต่างประเทศไปหมด โดยเฉพาะหลงใหลสินค้าต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยเริ่มคลอนแคลนมีการขาดดุลการค้าสูงขึ้นเรื่อยๆ จนอาจทำให้เศรษฐกิจไทยพังลงได้หลังจากที่อุตสาหกรรมไทยได้เริ่มพัฒนาขึ้นแล้วจากการริเริ่มให้ส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นในประเทศ โดยออกเป็น พระราช - บัญญัติส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย พ.ศ. ๒๔๙๕ และ พ.ร.บ ส่งเสริมการลงทุนฉบับแรกต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ ดังนั้นเมื่อไทยสามารถผลิตสินค้าออกสู่ตลาดได้ แต่คนไทยกลับไม่ซื้อของไทยที่ผลิตได้แต่กลับไปซื้อและนิยมของที่ผลิตจากต่างประเทศ ทำให้ไทยต้องขาดดุลการค้าอย่างน่ากลัว จึงมีกลุ่มคนที่รักชาติ รักแผ่นดิน ต้องการปกป้องแผ่นดินและเศรษฐกิจไทยด้วยการรวมตัวกันขึ้นจัดตั้งเป็น “ชมรมผู้นิยมใช้ของไทย” เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๓

ในช่วงระยะดังกล่าว ผู้ที่ออกแรงมากที่สุดและนับเป็นแกนกลางในการออกมารณรงค์ให้มี “การนิยมใช้ของไทย” เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าให้สำเร็จ คือ ท่านศาสตราจารย์ยศ บุนนาค การรณรงค์ให้นิยมใช้สินค้าไทย ในขณะนั้น ค่อนข้างครื้นเครง ที่ท่านศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเฟื่องเรื่องดนตรีไทย ได้ใช้เสียงดนตรีไทยจากการบรรเลงของคณะของท่าน สามารถชนะใจผู้ชมเป็นอันมาก ดนตรีไทยช่วยสื่อความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี มีแฟนรับฟังทั่วไป ทำให้ได้ผู้เลื่อมใสเข้าร่วมการรณรงค์ นิยมใช้ของไทย มากขึ้นอย่างรวดเร็ว นับว่าชมรมผู้นิยมใช้ของไทย ได้ก่อตัวแล้ว และได้ดำเนินกิจกรรมหลากหลายและได้รับความสำเร็จเรื่อยมา ตั้งแต่ปี ๒๕๐๗

ในช่วงฟูมฟักให้ชมรมฯ เดินต่อไป ได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์หลากหลาย ตั้งแต่แก้ปัญหาความเสื่อมศรัทธาและมีอุปาทาน (prejudice) สูงเกี่ยวกับความไม่น่าเชื่อถือของสินค้าที่ผลิตโดยฝีมือคนไทย ทั้งที่การผลิตก็ถูกต้องและมีคุณภาพจริงๆ เพราะเทคโนโลยีในการผลิตก็มาจากประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งนั้นที่เข้ามาขอส่งเสริมการลงทุนจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนดังนั้นการเลื่อมใสในของไทย ทำให้หลายคนผิดหวัง เมื่อคนไทยกลับไปซื้อของไทยที่ส่งออกไปขายที่ยุโรป หรืออเมริกาแต่ก็จะพบว่าเป็นสินค้าที่ Made in Thailand ทั้งนั้น แสดงว่า ความไม่ศรัทธาใน“ของไทย” นั้น ความจริงเป็น “อุปาทาน” ของผู้ที่คลั่งไคล้ต่างชาติเท่านั้น เมื่อเป็นดังนี้ จึงมีวิธีแก้อุปทานอยากใช้ของนอกให้หมดไป ด้วย ๒ วิธี คือ นำสมาชิกชมรม ไปดูว่า “เขาผลิตสินค้าไทยในโรงงานจริงๆ ในประเทศไทย เขาทำกันอย่างไร? ซึ่งเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมนำชมโรงงาน เกิดขึ้น และชมรมฯ ได้ดำเนินกิจกรรมนี้ สร้างความศรัทธาใน “สินค้าไทย” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “การนิยมไทย” ที่ต้องการปลูกฝังให้เกิดขึ้นในชาวไทยอีกวิธีหนึ่งที่ใช้เสริมกันเพื่อผลักดันให้ผู้มีอุปทานเกี่ยวกับสินค้าไทย ก็คือ การเปิดตัวต่อสาธารณชน ให้ผู้อุปโภคสินค้าได้พบกับ ผู้ผลิตที่สามารถผลิตสินค้าไทยได้ดีเด่นเป็นเลิศในโครงการประกวดสินค้าไทยดีเด่น ซึ่งเรื่องนี้คณะบริหารของชมรมฯ เป็นผู้ใกล้ชิดกับพระราชวงศ์ จึงมีการกราบบังคมทูลเชิญพระบรมราชวงศ์เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานแสดงสินค้าไทย และพระราชทานรางวัลผู้ผลิตสินค้าไทยดีเด่นในแต่ละปี ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินไปด้วยดีอยู่ระยะหนึ่ง สร้างความเลื่อมใสศรัทธาให้เกิดแรงสนับสนุนนำผู้คนกลับมานิยมสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยมากขึ้น แต่ต่อมา โครงการนี้ได้ค่อยๆ หายไป เพราะปรากฎว่ามีผู้นำไปเลียนแบบและหลอกลวงทั้ง ผู้ผลิตดีเด่น โดยมีผู้นำไปหากิน ด้วยการหลอกลวงว่าสามารถทำให้ได้รางวัลดีเด่นได้ ทำให้ชมรมฯ ได้รับความเสียหายจึงต้องยุติดำเนินการต่อไป

ในช่วงกลางปี ๒๕๑๕ ชมรมผู้นิยมใช้ของไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสนพระทัยเข้าร่วมรณรงค์นิยมใช้ของไทย โดยทรงสมัครเป็นสมาชิกตลอดชีพของชมรมนิยมใช้ของไทย ในลำดับที่ ๔๕๕ เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๑๕

30-12-2515

ซึ่งสมาคมฯ ได้จารึกไว้ในเกียรติประวัติของชมรมนิยมใช้ของไทย และสมาคมนิยมไทยในปัจจุบัน ทั้งสองพระองค์ ได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว สมาคมนิยมไทยยังรำลึกถึงพระผู้เป็นองค์มิ่งขวัญของสมาคมฯ ตลอดไป ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นผู้บุกเบิกสำคัญ ในการปลูกฝังความนิยมไทยให้เกิดในหมู่ประชาราษฎร์ไทยอย่างเข้มแข็ง ขอถวายพระพรให้ทรงเกษมสุขในสัมปรายภพตลอดไป

ในการประชุมใหญ่ประจำปีครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๓๐ พ.ค. ๒๕๑๖ มีมติให้เปลี่ยนสภาพของชมรมผู้นิยมใช้ของไทยเป็นสมาคมนิยมไทย โดยได้จดทะเบียนเป็นสมาคมเมื่อ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๘

001

002

และสมาคมนิยมไทยได้บริหารงานอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ปี๒๕๐๗ สมาคมนิยมไทยในปัจจุบันได้ย่ำเดินมากับวิวัฒนาการของโลกจากวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งชมรมผู้นิยมใช้ของไทย ซึ่งจำกัดอยู่เพียงวัตถุสิ่งของ ที่เป็นวัตถุธรรมทั้งสิ้น แต่โลกได้เปลี่ยนไปมากทางยาวที่สมาคมได้กรุยทางมาตลอดนั้น ปัญหาที่เคยผูกติดอยู่เดิมได้เคลื่อนย้ายเป้าจาก สินค้า มาเป็น ด้านวัฒนธรรม ดังนั้น เมื่อยุคโลกาภิวัตน์ได้ครอบงำจิตใจของประชากรไทยไปมาก ไทยจึงประสบปัญหาต่างจากยุคชมรมผู้นิยมใช้ของไทย มาสู่ยุคของการขาดความเป็นไทย “ไทย” โดยชีวิตจิตใจ และยังแก้ปัญหาจุดนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน จนมีการสร้างกลุ่มเยาวชนนิยมไทยที่เรียกว่า “ยุวฑูตนิยมไทย” ขึ้นทั่วราชอาณาจักรเพื่อสานต่อนโยบายนี้

กระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้ผู้คนลืมความเป็นไทย วิถีชีวิตแบบไทย วัฒนธรรมไทยถูกทำลาย โดยการถูกบ่าไหลเข้ามาของวัฒนธรรมต่างประเทศ และผู้คนไม่รู้จักแม้กระทั่ง คำว่า“นิยมไทย” ควรจะแปลความว่า คืออะไร ขณะนี้โจทย์ได้เปลี่ยนจากสินค้าไทยมาเป็นคนไทยที่กำลังจะลืมความเป็นเอกลักษณ์ไทย ความเป็นตัวตนของความเป็นไทย ไปหมดแล้ว และจะเป็นปัญหาให้คนรุ่นต่อไปที่จะต้องค้นหา “ตัวเอง” เพื่อจะสู้กับกระแสภูมิภาคนิยม และ โลกนิยมอย่างแน่นอนต่อไปคนไทย จะมีทั้งเอกลักษณ์ของอาเซียน

ขอให้ข้อคิดเช่นกัน ว่า จากการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ส่วนเอกลักษณ์ความเป็นไทย จะค่อยๆ หายไป คงจะต้องดูแบบอย่างว่า อีก ๙ ชาติในอาเซียน จะมีวิธีธำรงรักษาเอกลักษณ์ของตนไว้ได้อย่างไร โดยวิธีใด และแต่ละประเทศมีองค์กรเหมือนสมาคมนิยมไทย ในประเทศตนเพื่อดูแล การอนุรักษ์เอกลักษณ์ของตนอย่างใดหรือเปล่า แต่เราจะอยู่ได้ด้วยการมีอัตลักษณ์ของตัวเองทั้ง ๑๐ ชาตินั้นเอง จึงจะมีชาติทั่วโลกอยากคบหาค้าขายกับเรา ไม่ใช่การสลาย ๑๐ ชาติ มาเป็นชาติอาเซียน อย่างเดียว เพื่อให้เห็นขั้นตอนของ วิวัฒนาการของสมาคมนิยมไทย ในช่วง ๕๐ ปีที่ผ่านไป ตั้งแต่การรวมตัวกันเป็น ชมรมผู้นิยมใช้ของไทย จนถึง สมาคมนิยมไทยในปัจจุบัน โดยสรุปตามนายกสมาคมที่ดำเนินการมาแล้วในอดีตดังนี้

ปีวาระ นายกสมาคม/ชมรม

๒๕๑๓ - ๒๕๑๖    ศาสตราจารย์ ยศ บุนนาค
๒๕๑๖ - ๒๕๔๐    ท่านผู้หญิง นวลผ่อง เสนาณรงค์
๒๕๔๐ - ๒๕๔๒    นายฐาปนา บุนนาค
๒๕๔๒ - ๒๕๔๔    นายไพโรจน์ เกษแม่นกิจ
๒๕๔๔ - ๒๕๕๔    นายเกียรติพงศ์ น้อยใจบุญ
๒๕๕๔ - ปัจจุบัน    ผศ.ดร.ชลลดา มงคลวนิช